มะม่วงหาวมะนาวโห่

23 ธันวาคม 2562 (ผู้ดูแลระบบ) ฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ : ด้านพืช

มะม่วงหาวมะนาวโห่                                 

ชื่อวิทยาศาสตร์      : Carissa carandas L.

ชื่อวงศ์                : APOCYNACEAE

ชื่อท้องถิ่น            : ที่เพี้ยนมาจากชื่อ "มะม่วงไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่" พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนามขี้แฮด (เชียงใหม่), หนามแดง (กรุงเทพฯ), มะนาวไม่รู้โห่ (ภาคกลาง), มะนาวโห่ (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

        ลำต้น  เป็นไม้พุ่ม สูง 2-3 เมตร ทรงพุ่มกลม แตกกิ่งจำนวนมากทุกส่วนมียางสีขาวเหมือนน้ำนม ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมยาว 2-5 เซนติเมตร ปลายหนามมีสีแดง

         ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบกลม ผิวใบสีเขียวเข้มเป็นมัน

         ดอก เป็นดอกช่อสั้น ๆ ที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบมีขนโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวสีชมพูแกมแดง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ หอมตลอดวัน ออกดอกทั้งปี

         ผล เป็นผลเดี่ยวออกรวมกันเป็นช่อ ผลรูปกลมรี มนรี หรือรูปไข่ ผลอ่อนมีสีขาวอมชมพู ผลดิบมีน้ำยางมาก ผลจะค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดง กระทั่งสุกจึงกลายเป็นสีดำ

         เมล็ด มี 1 เมล็ด ติดอยู่ที่ส่วนปลายรูปไต ยาว 2.5-3 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเทา มีเปลือกแข็งหุ้ม

การใช้ประโยชน์

         ผล  ฆ่าเชื้อ ขับปัสสาวะ พอกดับพิษ แก้โรคลักปิดลักเปิด

         เมล็ด แก้กลากเกลื้อน แก้เนื้อหนังชาในโรคเรื้อน แก้โรคผิวหนัง แก้ตาปลา แก้เนื้องอก บำรุงไขข้อ บำรุงกระดูก บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกำลัง บำรุงผิวหนัง

         เปลือก แก้บิด ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ท้องเสีย แก้กามโรค ทำยาอมรักษาแผลในปาก แก้ปวดฟัน พอกดับพิษ

         ยอดอ่อน รักษาริดสีดวงทวาร

         ยาง ใช้ทำลายตาปลา กัดทำลายเนื้อที่ด้านเป็นปุ่มโต แก้เลือดออกตามไรฟัน รักษาหูด รักษาขี้กลาก แผลเนื้องอก โรคเท้าช้าง

        น้ำมัน ใช้ฆ่าเชื้อ ทาถูนวดให้ร้อนแดง ยาชา รักษาโรคเรื้อน กัดหูด แก้ตาปลา แก้บาดแผลเน่าเปื่อย