37.ดอรัด

13 กุมภาพันธ์ 2561 (ผู้ดูแลระบบ) ฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ : ทุเรียนพื้นเมือง

37.ดอรัด
ชื่อพื้นเมือง : ดอรัด
ที่มาของชื่อพื้นเมือง : ชื่อดอรัดมาจากลำต้นที่มีลักษณะเป็นตุ่ม พบบนลำต้นเป็นจำนวนมาก
ลักษณะเด่น : เป็นต้นทุเรียนที่เก่าแก่ ตกทอดถึงลูกหลาน 3 รุ่นแล้ว มีผล 200-250 ลูก

ต่อปี ลูกใหญ่ หนัก 1-2 กิโลกรัม ผลสีเขียวหนามใหญ่

สวน : คุณเสาวคนณ์ เพ็ชรพวง
ลักษณะทางสัณฐาน
ลำต้น : ต้นสูงประมาณ 28 เมตร ทรงพุ่มรูปทรงครึ่งวงกลม กว้าง 8 เมตร เส้นรอบวง 2.40 เมตร
          การทำมุมกับลำต้นเป็นมุมตั้งฉาก เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ด ไม่มียาง เปลือกนอก สีน้ำตาลเทา
          (light yellowish brown, 199C) เปลือกในสีน้ำตาลแดง (moderate reddish- brown, 174A)
ใบ : แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมเรียว ฐานใบแหลม ขอบใบเรียบ
      พื้นผิวของใบคล้ายกระดาษ ใบกว้าง 4.7 เซนติเมตร ยาว 14-15 เซนติเมตร ใบด้านบนสีเขียว (moderate-
      yellow green, 137C) ใบด้านล่างสีน้ำตาล (strong yellowish brown, N199D) ใบมีความหนาแน่นบางตา
      ทิศทางของใบแบบใบตก 45 ๐ ก้านใบกลม สีน้ำตาลเขียว (light olive brown, 199B) ยาว 1.5-2 เซนติเมตร
      กว้าง 2-3 มิลลิเมตร
ดอก : ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น (corymb) ช่อดอกออกบนกิ่ง ดอกอ่อนรูปไข่ ปลายดอกตูมมน
         กลีบเลี้ยงรูปรี ปลายหยักของกลีบเลี้ยงแบบหัวลูกศร กลีบเลี้ยงสีเขียว (moderate olive green, 137B)
         ฐานรองดอกสีส้ม (pale yellow, 165D) ดอกยาว 2-3 เซนติเมตร เกสรเพศเมียยาว 2-4 เซนติเมตร
         จำนวนกลีบดอก 6 กลีบ สีเหลือง (yellowish white, NN155A) กลีบดอกรูปช้อนแคบ เกสรเพศผู้เป็นมัด
         รูปร่างของเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นกระจุกมี 5 พู ยอดเกสรเพศเมีย สีส้ม (pale yellow,165D)
ช่วงเวลาดอกบานถึงผลแก่ : เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม
อายุการเก็บเกี่ยว : 120-140 วัน
การใช้ประโยชน์ : กินสด และกวน
ลักษณะแหล่งที่พบ
ความสูงจากระดับน้ำทะเล : 194 เมตร
สภาพดิน : ดินร่วนปนดินเหนียว อุณหภูมิดินที่ระดับความลึก 5 เซนติเมตร คือ 28.8
               องศาเซลเซียส อุณหภูมิดินที่ระดับความลึก 10 เซนติเมตร คือ 28.6 องศาเซลเซียส
               ความชื้นของดินที่ความลึก 5 เซนติเมตร 2.3 ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน 6-7
อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ : อุณหภูมิอากาศ 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 85