ตะเคียน (จุฬาภรณ์ 9)

11 มีนาคม 2565 (ผู้ดูแลระบบ) ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ในพื้นที่จุฬาภรณ์พัฒนา 9

ชื่อวิทยาศาสตร์            :   Hopea odorata Roxb.

ชื่อวงศ์                       :   DIPTEROCARPACEAE

ชื่อพื้นเมือง                 :   จืองา (มลายู-ยะลา) ตะเคียนทอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

         ลำต้น   ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า 300 เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กะพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้ตะเคียนเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของไม้ตะเคียน เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่นหรือสีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง

         ใบ       ใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปดาบ ปลายใบเรียว ส่วนโคนใบมนป้านและเบี้ยว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีตุ่มหูด ใบมีเส้นแขนงใบประมาณ 9-13 คู่ ปลายโค้งแต่ไม่จรดกัน เชื่อมใบย่อยเชื่อมกันเป็นขั้นบันได ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม

         ดอก     ออกดอกเป็นช่อยาวแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ มีดอกย่อยอยู่ช่อละประมาณ 40-50 ดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมและมีขนนุ่ม ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิดเป็นกงจักร มีขนาดของดอกประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร กลีบดอก 3-5 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ส่วนล่างกลีบบิดและเชื่อมติดกัน

         ผล       ผลแห้งไม่แตก ผลเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่เกลี้ยง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร ปลายมนเป็นติ่งคล้ายหนามแหลม มีปีกยาว 1 คู่ ลักษณะเป็นรูปใบพาย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ปลายปีกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และค่อย ๆ เรียวสอบมาทางด้านโคนปีก เส้นปีกตามยาวประมาณ 9-11 เส้น 

ช่วงการออกดอกและติดผล        เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 

แหล่งที่พบ                            พบตามป่าดิบชื้นในประเทศไทย                                                      

การขยายพันธุ์                       การเพาะเมล็ด

การใช้ประโยชน์

สมุนไพร                                                                                                               

- เปลือกต้น                   ช่วยแก้บิดมูกเลือด  แก้อาการเหงือกอักเสบ  ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก

- แก่นมีรสขมอมหวาน      ช่วยแก้โลหิตและกำเดา ขับเสมหะ แก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม 

- ยาง ช่วยแก้อาการท้องเสีย