งานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 5

3 พฤษภาคม 2559 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวกิจกรรม

สถาบันวิจัยฯ จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 5 เรื่อง สร้างสรรค์งานวิจัยจากคลังปัญญาท้องถิ่นสู่สากล

          เมื่อวันที่ 24 เม.ย.59  ที่ ห้องประชุมซาลัค Sa-Lak (สละ) ชั้น 4 อาคารคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 5 เรื่อง สร้างสรรค์งานวิจัยจากคลังปัญญาท้องถิ่นสู่สากลโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ คณะกรรมการดำเนินงาน และผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ

          ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายจาก 3 มหาวิทยาลัยหลัก ได้แก่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และเครือข่ายร่วมได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ เครือข่ายความร่วมมือ Universiti Sains Lslan Malaysia, Universitas Muhammadiyah,  Universitas Lslam  Negeri Sunan Ampel, University Of Darussalam Gontor, Universitas Negerimalang,  Universitas Negeri Yogyakarta, เพื่อแสดงศักยภาพด้านการบูรณาการงานวิจัย ในการที่จะสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน และร่วมกันผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยและนักวิจัยจากหน่วยงานอื่น ๆเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผลงานวิจัย ที่จะผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในวงกว้างและขยายออกไปให้มากยิ่งขึ้น

          อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติม ในวันนี้มีผลงานวิจัยที่นำเสนอรวมทั้งสิ้น 137 เรื่อง เป็นการนำเสนอด้วยวาจา 99 เรื่อง นำเสนอแบบโปสเตอร์ 38 เรื่อง โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มคือ 1) กลุ่มวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ 2) กลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3) กลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ 4) กลุ่มบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการท่องเที่ยว 5) กลุ่มการศึกษาและศาสนา และ 6) กลุ่มอิสลามศึกษา นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายปาฐกถาพิเศษเรื่องวิจัย : การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสู่สากล โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและการเสวนาในหัวข้อเรื่อง บูรณาการศาสตร์งานวิจัยสู่สากลจากผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย