ความเป็นมา อพ.สธ.-มรย.

3 พฤศจิกายน 2563 (ผู้ดูแลระบบ) หน้าหลัก

1. ความเป็นมา

         พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.๙) ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรงเริ่มงานพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา โดยมีพระราชดำริให้ดำเนินการรวบรวมรักษาพรรณพืชต่างๆ ที่หายากและกำลังจะหมดไป

         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสานพระราชปณิธานต่อ โดยพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในระยะที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนองพระราชดำริเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่และกิจกรรมของโครงการได้ขยายและกระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายมากขึ้นโดยลำดับ และได้บรรลุผลก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยประจักษ์ชัดแล้ว

2. การสนองพระราชดำริของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

         มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในปี พ.ศ. 2560 และได้รับพระราชานุญาตให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2560 เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ราชการที่ 9) และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

3. พื้นฐานความพร้อมของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในการร่วมสนองโครงการ อพ.สธ.

         มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนร่วมอนุรักษ์และพัฒนาการนำทรัพยากรในท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังมีภารกิจในด้านการส่งเสริมให้เยาวชนในท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่มากหลากหลายในสังคมซึ่งจัดเป็นทุนทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่าและสามารถใช้เป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

        ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ ได้ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มาในปี พ.ศ. 2547 ในนามหน่วยงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคณะทำงานศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นักศึกษา จากสาขาชีววิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ สาขาเคมี และสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ร่วมศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่หุบเขาลำพญา ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และศึกษาพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพชายแดนภาคใต้ ภายใต้กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก ของ อพ.สธ. และได้จัดทำหนังสือ อพ.สธ. เรื่อง พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้สานต่อพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและทรัพยากรท้องถิ่น ตามแผนแม่บท อพ.สธ.อย่างมีประสิทธิภาพ