รับสมัครนักวิจัยเข้าร่วมโครงการ "บ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2"

3 กรกฎาคม 2560 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการ บ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2

 

หลักการและเหตุผล

          อนาคตของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ความก้าวหน้าทางวิชาการ มหาวิทยาลัยจะมีความก้าวหน้าทางวิชาการได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยอย่างหนึ่งได้แก่ คุณภาพของอาจารย์ ซึ่งอาจพิจารณาได้จาก คุณภาพด้านการสอน และคุณภาพด้านการวิจัยเป็นหลัก คุณภาพด้านการวิจัยหรือการสร้างองค์ความรู้ นับเป็นด้านแรกที่ต้องพัฒนา เพราะเมื่อมีความรู้แล้วก็สามารถนำความรู้ไปสอนหรือไปถ่ายทอดได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาคณาจารย์ให้มีความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ด้วยกระบวนการวิจัย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้พัฒนาความรู้และทักษะด้านการวิจัยให้คณาจารย์และบุคลากรมาโดยตลอด ด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยวิธีการฝึกอบรม ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะผลในวงกว้าง ช่วยกระตุ้นและสร้างกระแสให้เห็นความสำคัญของการวิจัย 

          สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ (สวพ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการคุณภาพงานวิจัย สำหรับโครงการบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ได้มีการดำเนินโครงการไปแล้วในรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้มีการส่งเสริม สนับสนุน ให้คำปรึกษา และชี้แนะแนวทางในการทำงานวิจัยให้กับนักวิจัยแต่ละคนอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ทำให้นักวิจัยสามารถพัฒนางานวิจัยของตนเองได้อย่างตรงจุดและมีเป้าหมายที่มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น โครงการบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ จะเป็นโครงการที่สานต่อมาจากรุ่นแรก โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยให้มหาวิทยาลัย เป็นโครงการมุ่งผลเชิงลึก และครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การคิดโครงการวิจัย จนถึงการเผยแพร่ และนำมาสู่การเพิ่มตำแหน่งทางวิชาการให้กับบุคลากร และยังคาดหวังว่าบุคลากรที่ได้รับการพัฒนากลุ่มนี้ จะเป็นแม่ไก่ เป็นเสาหลัก และเป็นอนาคตทางวิชาการของมหาวิทยาลัยต่อไป

วัตถุประสงค์

          1. เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้กับคณาจารย์แบบครบวงจร 

          2. เพื่อเพิ่มผลงานตีพิมพ์ เพิ่มตำแหน่งทางวิชาการให้กับคณาจารย์

          3. เพื่อเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัย ซึ่งจะเป็นแม่ไก่หรือเสาหลัก และเป็นอนาคตของมหาวิทยาลัยต่อไป

เป้าหมาย

เชิงปริมาณ

          1. มีผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการอย่างน้อย 10 คน

          2. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถตีพิมพ์ผลงานในวารสารฐาน TCI กลุ่ม 1 ขึ้นไป อย่างน้อย 50% ของผู้สมัคร

เชิงคุณภาพ

          1. ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยแบบครบวงจร

          2. ผู้เข้าร่วมโครงการมีผลงานตีพิมพ์ซึ่งสามารถนำไปสู่การขอตำแหน่งทางวิชาการได้

          3. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเป็นแม่ไก่หรือเสาหลัก และเป็นอนาคตของมหาวิทยาลัยต่อไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          1. คณาจารย์จะมีความรู้ ทักษะการวิจัย มีผลงานตีพิมพ์เพิ่มขึ้น และจะสามารถนำไปเสนอเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้

          2. มหาวิทยาลัยจะมีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีผลการประเมินด้านการวิจัยและการเผยแพร่ผลงานวิชาการเพิ่มขึ้น

          3. ชุมชนจะได้รับผลต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่น ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืนบนฐานของวิชาการ

 

วิธีการสมัคร

          ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและส่งมายังอีเมล์ [email protected] หรือสมัครด้วยตนเองที่งานส่งเสริมการวิจัยและข้อมูลท้องถิ่น สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ อาคาร 4 ชั้น 2 ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

ดาวน์โหลดใบสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2

 

หมายเหตุ : ข้อแนะนำในการสมัครเข้าร่วมโครงการ

1. ผู้สมัครควรมีพื้นฐานทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การศึกษา หรือการจัดการ

2. ผู้สมัครควรวางแผนว่าจะเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการสาขาใด

3. ผู้สมัครควรมีความพร้อมและมีความตั้งใจจริงในการเข้าร่วมโครงการ

4. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 1 ปี มีการประเมินผลทุก 3 เดือน