วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

มาค้นหาปัญหาการวิจัยกัน (Research problem)

             คำว่า   "วิจัย"   ได้มีการตีความหมายไว้หลายรูปแบบ โดยในภาษาอังกฤษเรียกว่า   "Research"   ซึ่ง หมายถึง  การค้นหาข้อเท็จจริงที่ได้กระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก  (Re  Search)  จนกระทั่งได้ข้อยุติที่เชื่อถือได้  แต่อย่างไรก็ตามได้มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของการวิจัยหลายรูปแบบ ได้แก่ พจน์  สะเพียรชัย  (2516)  ให้ความหมายว่า  การวิจัย  คือวิธีการค้นคิด  วิธีการแก้ปัญหาที่มีระบบแบบแผนที่เชื่อถือได้  เพื่อก่อให้เกิดความรู้ที่เชื่อถือได้  สมหวัง  พิธิยานุวัฒน์  (2525)  ให้ความหมายว่า  การวิจัย คือการค้นหาความรู้ใหม่หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่  ๆ โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เคอร์ลิงเจอร์  (Kerlinger, 1986)  ให้ความหมายว่า การวิจัยเป็นการสืบค้นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างมีระบบ  มีการควบคุม  มีการสังเกตจากสภาพการณ์จริง และมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยอาศัยทฤษฎีและสมมติฐานเป็นแนวทางค้นหาความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์นั้น 

         จึงอาจสรุปได้ว่า  "การวิจัย  หมายถึง  การค้นหาความจริงหรือข้อเท็จจริงของปัญหาโดยอาศัยกระบวนการที่เชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์หรือช่วยแก้ปัญหาต่อสังคมได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อกระบวนการวิจัยและถือว่าเป็นขั้นแรกของการทำวิจัย คือ ปัญหาการวิจัย

        “การค้นหาหรืกำหนดปัญหาการวิจัย” (Research problem) หมายถึง ประเด็นข้อสงสัยที่ผู้วิจัยต้องการทราบคำตอบ การวิจัยจำเป็นต้องเริ่มต้นจากการมีปัญหาการวิจัย ซึ่งมีวิธีการศึกษาปัญหามี 4 วิธี ได้แก่ 

1) การเรียนรู้ด้วยตนเอง คือ ประสบการณ์ของผู้วิจัย  โดยการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วยตนเองและนับเป็นวิธีที่สำคัญและดีที่สุด 

2) การสังเกตและสอบถาม คือ การสัมภาษณ์ สอบถาม หรือสังเกตปัญหาจากผู้รู้ ซึ่งจำเป็นต้องเลือกผู้ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ต้องการสอบถามปัญหา 

3) การอ่าน คือ การศึกษาปัญหาจากเอกสารและงานวิจัยที่มีผู้ทำมาแล้ว 

4) ทฤษฎี คือ การศึกษาจากทฤษฎีหรือแนวความคิดของผู้อื่นและนำมาพัฒนาและใส่ความคิดเห็นของผู้วิจัยเองด้วย การกำหนดปัญหาการวิจัยจึงเป็นงานสำคัญ ผู้วิจัยจำเป็นที่จะต้องกำหนดปัญหาให้ดี เพราะจะช่วยให้คาดหวังได้ว่าผลการวิจัยที่ได้รับจะมีคุณค่าต่อไป
          การวิจัย จึงนับเป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการการแก้ปัญหาของมนุษย์ โดยเป็นกระบวนการค้นหาความจริงโดยอาศัยกระบวนการที่น่าเชื่อถือ และจุดเริ่มต้นของกระบวนการวิจัย คือ การกำหนดปัญหาการวิจัย ซึ่งสามารถค้นหาได้จากประสบการณ์ การสอบถาม การอ่าน และทฤษฎีต่างๆ ซึ่งหากผู้วิจัยมีการกำหนดปัญหาที่ดีและชัดเจน งานวิจัยนั้นย่อมเป็นประโยชน์และช่วยเหลือสังคมได้ 

ค้นหาปัญหาก่อนการทำวิจัย เพื่อพัฒนามวลมนุษยชาติ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น