ชายแดนใต้โพล by YRU เผยเชื่อมั่นต่อมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิด-19

23 ธันวาคม 2563 (ผู้ดูแลระบบ) ผลสำรวจชายแดนใต้โพล

ชายแดนใต้โพล by YRU ราชภัฏยะลา ร่วมกับ มรภ.สงขลา และราชภัฏโพลล์ 38 แห่ง เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 59.03 “เชื่อมั่นต่อมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย”

วันนี้ (9 ธ.ค.63) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมหยางฉื่อ อาคาร 4 ชั้น 3 สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น ร่วมแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็น (Poll) ชายแดนใต้โพล by YRU ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และราชภัฏโพลล์ โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย” ภายใต้โครงการสำรวจการปรับตัวของชุมชนวิถีใหม่ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูล ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2563 เก็บข้อมูลจาก 4 จังหวัดเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 1,074 หน่วยตัวอย่าง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ 6 ประเด็น ผลการศึกษา พบว่า

ความเชื่อมั่นต่อมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย พบว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 ค่อนข้างเชื่อมั่นต่อมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 59.03

การป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 70 หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล และสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อยู่กับผู้อื่น

มาตรการที่่ประชาชนในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซียคิดว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เข้มงวดหรือเพียงพอในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 คิดว่ามาตรการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยมิชอบไม่เข้มงวดหรือเพียงพอในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 56.70

ความกังวลต่อการติดเชื้อโรคระบาดของโควิด-19 ในเขตติดต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยยละ 50 มีระดับความกังวลต่อการติดเชื้อโควิด-19 ในระดับ ค่อนข้างกังวล คิดเป็นร้อยละ 55.21

สาเหตุที่ทำให้ประชาชนมีความกังวล พบว่า ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50กังวลถึงการระบาดของโรคโควิด-19 รอบที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 64.99 รองลงมา คือ ตกงาน ว่างงาน ร้อยละ 34.67 ธุรกิจ ค้าขายหยุดชะงัก ร้อยละ 36.78 และสถานศึกศึกษาต้องปิด ร้อยละ 23.65

ความต้องการให้มีมาตรการป้องกันการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดในเขตติดต่อชายแดน ไทย-มาเลเซีย อย่างเร่งด่วน พบว่า ประชาชนต้องการให้มีมาตรการป้องกันการปิดชายแดน ไทย-มาเลเซีย จนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย ร้อยละ 43.30 รองลงมา คือ มาตรการป้องกันการตรวจโรค ณ จุดข้ามแดน ร้อยละ 41.81 มาตรการป้องกันการกักตัวตามมาตรการของภาครัฐ ร้อยละ 34.64 และมาตรการป้องกันการอนุญาตผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาเร่งด่วน หรือกรณีจำเป็นเป็นรายกรณี ร้อยละ 31.19