เปิดรับข้อเสนอโครงการบริการวิชาการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรอบโครงการ From University to Community Enterprises

15 ตุลาคม 2563 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวประชาสัมพันธ์

    

เปิดรับข้อเสนอโครงการบริการวิชาการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

กรอบโครงการ  From University to Community Enterprises:

การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่

-------------------------

 

          ด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติให้มีการจัดทำโครงการการเพิ่มขีดความสามารถผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยสู่วิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ในการนี้ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ จึงขอเปิดรับข้อเสนอโครงการบริการวิชาการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้กรอบโครงการ From University to Community Enterprises: การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

          1. หลักการและเหตุผล

          วิสาหกิจชุมมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อวิสาหกิจชุมชน  การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนมาบูรณาการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมกันพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่ม การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต ตลอดจนการพัฒนากลุ่มเป้าหมายและช่องทางการตลาดในการกระจายสินค้าให้ครอบคลุม  จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ และการประมง โดยที่สามารถรวมกลุ่มจนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ จำนวนทั้งหมด 2,103 กลุ่ม ซึ่งประสบปัญหาทางด้านคุณภาพ ปริมาณ และราคาของผลผลิตแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตอีกด้วย

          มหาวิทยาลัยราชภัฏได้น้อมนำพระบรมราโชบายในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงของชาติ ด้วยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่โดยทรงเน้นย้ำด้านการพัฒนาท้องถิ่นเป็นพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบให้ดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามีหนึ่งในพันธกิจหลัก คือ การบริการทางวิชาการแก่สังคม ในการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คือ มหาวิทยาลัยคลังปัญญาชายแดนใต้  โดยการให้บริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี น้อมนำพระราชดำริ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับความต้องการและแก้ปัญหาของท้องถิ่นและสังคมให้มีคุณภาพและมาตรฐานชีวิตที่ดี มีความพอเพียง มีความเข้มแข็งและพัฒนาอย่างยั่งยืน 

          ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นชายแดนภาคใต้และเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและท้องถิ่นในพื้นที่ จึงเกิดโครงการ “การเพิ่มขีดความสามารถผ่านกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยสู่วิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”  ทั้งนี้ เพื่อนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยและบริการวิชาการในฐานะบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่มาถ่ายทอดให้วิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

          2. วัตถุประสงค์

          เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่วิสาหกิจชุมชนแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

          3. ขอบเขตการดำเนินงาน

              3.1 เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน.

(1) เป้าหมาย 2.2 ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

(2) ประเด็น 4.5 พัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (23)* การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

(1) เป้าหมายระดับประเด็น (2) มูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น

(2) แผนย่อยของแผนแม่บทฯ 23.1 แผนย่อยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจ

(3) เป้าหมายแผนแม่บทย่อย 23102 (2) วิสาหกิจในกลุ่มเป้าหมายด้านเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมเพิ่มขึ้น

          3.2 กรอบกิจกรรมและเป้าหมายการให้บริการวิชาการ

กิจกรรม

เป้าหมาย

1. การวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลผลิต (Output)

- จำนวนวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัย

- จำนวนนวัตกรรมที่เกิดจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัย

• ผลลัพธ์ (Outcome)

- วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถเพิ่มรายได้จากการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

- วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการรับรองมาตรฐาน

- มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาสามารถเป็นแหล่งพึ่งพิงทางวิชาการให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

2. การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.1 การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.2 การพัฒนาความสามารถและศักยภาพเด่นที่ซ่อนเร้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

2.3 การพัฒนานวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

          3.3 กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

4. กรอบงบประมาณและระยะเวลา

          4.1 กรอบการเขียนงบประมาณสามารถเขียนได้ไม่จำกัดวงเงิน การจัดสรรงบประมาณพิจารณาขึ้นอยู่กับเป้าหมายและตัวชี้วัดโครงการ

          4.2 ระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565

 

5. การส่งข้อเสนอโครงการ

          5.1 ขอให้อาจารย์หรือบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาที่สนใจสามารถส่งข้อเสนอโครงการและใบส่งข้อเสนอโครงการบริการวิชาการ (บวก. 1) โดยปริ๊นต์ส่งที่งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ จำนวน 1 ชุด และส่งเป็นไฟล์มายังอีเมล์ [email protected] ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 16.30 น.

          5.2 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวริซมา สาเม๊าะ ห้อง HRD งานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ ชั้น 2 อาคาร 4 หมายเลขภายใน 31000 


ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการส่งข้อเสนอโครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่ http://bit.ly/as-65