อาจารย์ธนวัฒน์ พรหมสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศิลปวัฒนธรรม ร่วมรับเสด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และร่วมพิธีเปิดพร้อมจัดแสดงนิทรรศการ “ผ้ายก พัสตราภรณ์ล้ำค่า ภูษาสองแผ่นดิน” Brocade Textile : Treasures of Two Nations

26 พฤษภาคม 2566 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวกิจกรรม
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวและสหวิทยาการสมุย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “ผ้ายก พัสตราภรณ์ล้ำค่า ภูษาสองแผ่นดิน” Brocade Textile : Treasures of Two Nations และประทานรางวัลแก่ผู้มีคุณูปการต่องานด้านศิลปวัฒนธรรม ในการประชุมวิชาการสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยมีสำนักศิลปและวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรม เข้าร่วม
---
สำหรับการประชุมวิชาการสภาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 เป็นร่วมมือกันทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในลักษณะเครือข่ายที่จะทำให้การดำเนินงานตามภารกิจของสำนักศิลปะและวัฒนธรรมบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในด้านการสนับสนุน ถ่ายทอด ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพราะการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมจะลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนที่อาจทำให้สิ้นเปลือง ทรัพยากร บุคคลากร งบประมาณ และเวลา นอกจากนี้ การดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมจะสร้างพลังในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายใหญ่เพื่อเชื่อมต่อโยงใย (Connect) บุคลากรที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้คนมาเจอกันได้อย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นไปอย่างมีพลังและต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม
----
อาจารย์ธนวัฒน์ พรหมสุข รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผ้ายกจากท้องถิ่นภาคใต้ โดยนำ"ผ้ายกตานี" ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านการสั่งสม สืบทอดกันมาเป็นเวลานับร้อยปี จัดเป็นผ้าทอชั้นดีที่มีความวิจิตรงดงามและนิยมใช้ในหมู่ชนชั้นสูง โดยชื่อเสียงเรียงนามของ ยกตานี นั้นได้รับกล่าวขานกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลได้ทรงนำเอาชื่อผ้าชนิดนี้ไปกล่าวไว้ในบทพระนิพนธ์ เรื่องดาหลังหรืออิเหนาใหญ่ ครั้นมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผ้ายกตานีก็ได้ถูกล่าวขานขึ้นอีกครั้งในบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง ดาหลัง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย