หวายกำพวน

29 มีนาคม 2561 (ผู้ดูแลระบบ) ฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ : ด้านพืช

ชื่อวิทยาศาสตร์         Calamus longisetus Griff.

ชื่อพื้นเมือง                รอแตบบูโบ (มลายูท้องถิ่น-ยะลา)

ชื่อวงศ์                      ARECACEAE

ลักษณะทางสัณฐานวิทยา

          หวายขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกอ ลำต้น เลื้อยปีนป่าย ยาว 10-20 เมตร มีกาบใบกาบหุ้มลำเมื่อสดมีสีเหลืองออกเขียว เมื่อแห้งมีสีน้ำตาล มีหนามรูปสามเหลี่ยมแบน สีน้ำตาลแดงหรือดำ โคนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลนูนขึ้นเล็กน้อย หนามมีหลายขนาดขึ้นอย่างหนาแน่น หนามรูปแถบสั้นๆ พบเป็นกระจุก หรือเดี่ยวๆ และมีหนามรูปเข็มแทรกอยู่อย่างหนาแน่น หนามส่วนใหญ่เฉียงลง ปากกาบหุ้มลำมีหนามรูปสามเหลี่ยมกระจายอยู่ห่างๆ ใบ ใบประกอบแบบขนนก เรียงแบบตรงข้าม แผ่นใบหนา ใบย่อยรูปขอบขนาน มีหนามอยู่ทั่วใบ ผิวใบมีหนามสั้นปกคลุม ด้านบนมีหนามรูปขนบนเส้นใบ ด้านล่างมีหนามรูปขนบนเส้นใบช่วงปลาย ขอบใบมีหนามรูปขนแข็ง ปลายใบแหลม ใบย่อยแต่ละข้างของทางใบเรียงตัวเป็นกลุ่มๆ แบบเยื้องกันหรือตรงข้ามตรงข้าม ใบกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 150-200 เซนติเมตร เส้นใบแตกแบบขนานตามยาว เส้นกลางใบมีหนาม ดอก ออกเป็นช่อ ช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตร ออกบริเวณซอกกาบใบ  ผล ผลเดี่ยว ออกเป็นช่อรูปไข่ ปลายผลแหลมยื่นออกเล็กน้อย ผลอ่อนสีดำปนน้ำตาล ผลแก่สีน้ำตาลปนเหลือง ปลายเมล็ดหุ้มผลมีสีดำสลับกับสีน้ำตาลเป็นแถบ ขอบเมล็ดมีขนสั้นๆ สีน้ำตาลอ่อนหรือเป็นริ้วๆ

การกิน                    ผลสุก กินสด รสหวานฝาด

ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต        ตลอดปี