กฏหมายที่เกี่ยวข้อง

10 ตุลาคม 2560 (ผู้ดูแลระบบ) คลังเอกสาร
  1. กฎหมาย นโยบาย มาตรการ

กฎหมาย       ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ได้รับการคุ้มครองดูแลจากกฎหมายหลากหลายฉบับที่สำคัญมากได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 56 ระบุถึงสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลาย ทางชีวภาพ มาตรา 79 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ได้กำหนดให้มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะได้มีการคุ้มครอง ควบคุม ดูแลระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (habitat) ของพืชและสัตว์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามเก็บหา นำไม้หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นออกไป ห้ามนำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายแก่สัตว์ ห้ามเก็บหา นำออกกล้วยไม้ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายดอกไม้ ใบไม้หรือผลไม้ ห้ามดำเนินกิจกรรมเพื่อหาผลประโยชน์ (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ห้ามมิให้บุคคลใดทำไม้ เก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เว้นไว้แต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้น  หากเห็นสมควรกำหนดป่าอื่นใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อรักษาสภาพป่าไม้ ของป่า หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น สามารถกระทำได้โดยออกกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์          (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 ตลอดจนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องกำหนดพืช ศัตรูพืช หรือพาหะจากแห่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม กำหนดให้พืชที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งการนำเข้า หรือนำผ่านต้องได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร และอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะเพื่อการทดลองหรือวิจัย (ดูรายละเอียด ฉบับบที่1) (ดูรายละเอียด ฉบับบที่2)
  • พระราชบัญญัติบำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2509  กำหนดให้มีการป้องกันและควบคุมสัตว์สงวนพันธุ์เพื่อใช้ทำพันธุ์ ห้ามตอน ห้ามฆ่า หรือส่งสัตว์สงวนพันธุ์ออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้าในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522  ควบคุมการนำเข้าและส่งออก โดยพระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2518 และประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร 11 ฉบับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ได้กำหนดรายชื่อสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า ปลาทะเลสวยงาม 400 ชนิด สัตว์น้ำอื่น ๆ 258 รายการ เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำออกนอกประเทศไทย โดยมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตตามกำหนดในกฎกระทรวง (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ได้มีการประกาศกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อที่จะคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ตลอดจนมีการประกาศกำหนดชนิดสัตว์ป่าสงวน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายาก จำนวน 15 ชนิด (เดิม 9 ชนิด) รวมทั้งมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติให้ทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, CITES) และกำหนดการควบคุมการนำเข้า ส่งออก ส่งเสริมการขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มประชากร อนุรักษ์ชนิดพันธุ์ และลดความกดดันที่เกิดจากการล่า (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติอันโดดเด่นพิเศษเฉพาะ หรืออันอาจถูกทำลายได้ง่าย เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมีการจัดการโดยเฉพาะ และมีการคุ้มครองตามที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่ (ดูรายละเอียด)
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า โดยกำหนดให้มีการขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ในกรณีที่เก็บ จัดหา หรือรวบรวมพันธุ์พืชนั้นหรือส่วนใดของพันธุ์พืชไปใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง และวิจัยเพื่อประโยชน์ในทางการค้า (ดูรายละเอียด)

 (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , 2017)​

นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

มาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กำหนดให้ภาคีจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำนโยบายและมาตรการระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ด้วยเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกรอบและทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ แม้ว่าในขณะนั้นประเทศไทยจะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ได้มีการจัดทำและใช้เป็นกรอบการดำเนินงานระดับชาติ (ระยะเวลา 5 ปี) แล้ว จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 และที่ 2 นั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิจารณาดำเนินการ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อยกร่างและจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เดิม) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงาน

สำหรับการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ฉบับที่ 3 เป็นการดำเนินการภายใต้คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ที่ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีสำนักความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ การจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์ฯ ทั้งสามฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้มีนโยบายระดับชาติ ในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพครอบคลุมในทุกประเด็น ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรา 6 ของอนุสัญญาฯ และการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทของหน่วยงานนั้นๆ

นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ได้ผ่านการพิจารณา ตรวจสอบ และกลั่นกรองอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งการจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ตลอดจนการเวียนเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และนำเสนอคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ/คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามลำดับ

ฉบับที่

คณะกรรมการฯ 
เห็นชอบ

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ

สาระสำคัญ

1. นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์
และใช้ประโยชน์
ความหลากหลาย
ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 
พ.ศ. 2541 – 2545

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2540  

15 กรกฎาคม 2540

การเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่บุคลากร การให้ความรู้ความตระหนักแก่สาธารณชน การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พื้นที่คุ้มครอง การสร้างแรงจูงใจให้แก่ท้องถิ่นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองชนิดพันธุ์และสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์และระบบนิเวศที่อยู่ใน
สภาพวิกฤต ตลอดจนการควบคุมและติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ

2. นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์
และใช้ประโยชน์
ความหลากหลาย
ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2546 – 2550

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544

11 มิถุนายน 2545

การลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย การสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง การฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นป่าชุมชนและเพื่อประโยชน์ใช้สอย การสำรวจวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืช สัตว์ แมลง และจุลินทรีย์ในพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนทุกระดับ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์
ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน การรณรงค์ให้มี
ีการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
ในพื้นที่ป่าชุมชนที่มีอยู่ การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย

3. นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์
และใช้ประโยชน์
ความหลากหลาย
ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
พ.ศ. 2551 – 2555

คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ เห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 15 มกราคม 2551 การเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นฐานที่มั่นคงของการดำรงชีวิตของคนไทย ควบคู่กับการวิจัยคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพให้นำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างกลไกในการเข้าถึงและมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม

 (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , 2017)

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2017, ตุลาคม 11). กฎหมาย . Retrieved from clearing house mechanism: http://chm-thai.onep.go.th/chm/policy_1.html
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม . (2017, ตุลาคม 11). กฎหมาย นโยบาย มาตรการ. Retrieved from clearing house mechanism: http://chm-thai.onep.go.th/chm/policy_2.html