งานบริการวิชาการ

3 สิงหาคม 2559 (ผู้ดูแลระบบ) ภารกิจหน่วยงาน

งานบริการวิชาการ

หลักการและเหตุผล

             การบริการทางวิชาการแก่สังคมเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษา สถาบันพึงให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ในรูปแบบต่างๆ ตามความถนัดและในด้านที่สถาบันมีความเชี่ยวชาญ การให้บริการทางวิชาการอาจให้เปล่าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรืออาจคิดค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม  โดยให้บริการทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานอิสระ หน่วยงานสาธารณะ ชุมชน  และสังคมโดยกว้าง  รูปแบบการให้บริการทางวิชาการมีความหลากหลาย  เช่น การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทรัพยากรของสถาบัน  เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ ให้คำปรึกษา ให้การอบรม  จัดประชุมหรือ สัมมนาวิชาการ ทำงานวิจัยเพื่อตอบคำถามต่างๆ หรือเพื่อชี้แนะสังคม การให้บริการทางวิชาการนอกจากเป็นการทำประโยชน์ให้สังคมแล้ว สถาบันยังได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์อันจะนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร มีการบูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย พัฒนาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งงานของนักศึกษาและเป็นการสร้างรายได้ของสถาบันจากการให้บริการทางวิชาการด้วย 

        การศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ทุกคนต้องศึกษา เรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในประเทศ เพื่อร่วมอนุรักษ์และพัฒนาด้านความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปในอนาคต ดังนั้นการจัดกิจกรรมการถ่ายทอดการเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และเกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติยิ่งขึ้น

          ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อศึกษาและวิจัยทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ โดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ตำบลลำพะยา ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติหุบเขาลำพญา และสวนพฤกษศาสตร์ลำพะยา เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติจริงให้กับผู้ที่สนใจ (นักเรียน เยาวชน ประชาชน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้) ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในกระบวนการเรียนรู้ มีความเข้าใจอย่างแท้จริงและเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดการเรียนรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับเยาวชนในชายแดนใต้ ในแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติขึ้น 2 กิจกรรม ได้แก่ หลักสูตรเส้นทางศึกษาธรรมชาติหุบเขาลำพญา และหลักสูตรพฤกษศาสตร์น่ารู้ กิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านงานวิจัยสู่การบริการวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ หลักสูตรเห็ดเบื้องต้น และหลักสูตรไลเคน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบริการวิชาการอีกมากมายซึ่งจัดออกมาในรูปแบบต่าง เช่น โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โครงการผลิตสื่อ โครงการวิจัย เป็นต้น

พื้นที่ดำเนินการ

       ณ ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา องค์การบริหารส่วนตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และตามความต้องการของผู้รับบริการ

ปีที่เริ่มดำเนินการ  : ตั้งแต่ปี พศ. 2548 - ปัจจุบัน