งานโครงการท่าสาปโมเดล

4 ตุลาคม 2559 (ผู้ดูแลระบบ) ภารกิจหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือโครงการท่าสาปโมเดล

 

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือโครงการท่าสาปโมเดลระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากับ เทศบาลตำบลท่าสาปเพื่อพัฒนา ต.ท่าสาป ให้เป็นต้นแบบชุมชนเมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้(26 พ.ย 57) ที่ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ “ท่าสาปโมเดล” ระหว่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและ นายมะสดี หะยีปิ นายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และเทศบาลตำบลท่าสาป และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น โดยการพัฒนาและนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปเผยแพร่ต่อชุมชน โดยมี คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ฯ และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ต.ท่าสาป ร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้
ดร.รุ้งลาวัลย์ จันทรัตนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ ในการจัดทำโครงการ "ท่าสาปโมเดล" คือ การรวมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับเทศบาล ต.ท่าสาป เพื่อร่วมกันพัฒนาและจัดกิจกรรมบริการวิชาการร่วมกัน และขยายผลการประยุกต์ใช้ความรู้ จากมหาวิทยาลัยฯ อันเป็นคลังปัญญาชายแดนภาคใต้ สู่การปฏิบัติจริงในการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเดิมทีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้มีการจัดทำโครงการบริการเชิงพื้นที่ หรือ หนึ่งคณะหนึ่งพื้นที่ โดยได้กระจายพื้นที่การให้บริการวิชาการ ทั้งในพื้นที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี และเพื่อให้การบริการวิชาการเกิดผลอย่างชัดเจน จึงได้จัดทำโครงการ “ท่าสาปโมเดล” โดยมีการสำรวจสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนในเบื้องต้น จากนั้นได้มีการประชุมระหว่างคณะกรรมการเพื่อจัดทำโครงการให้ตอบสนองความต้องการ รับบริการวิชาการอย่างแท้จริง ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 นี้ มีจำนวน โครงการทั้งหมด 32 และจำแนกเป็นกิจกรรมย่อย 47 กิจกรรม
 

โมเดล : โรงเรียนต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์

โครงการท่าสาปโมเดล

ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ

สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้

หลักการและเหตุผล

สภาพการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ประชาชนกำลังประสบปัญหา และอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมที่วิกฤติและอันตรายนานาประการ ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง ขาดโอกาสเข้ารับบริการทางการศึกษาในระบบจำนวนมาก และผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับชาติมาก  ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีนโยบายให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ต้องจัดให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้เพื่อส่งผลต่อการพัฒนาคนและสังคมของประเทศให้มีคุณภาพต่อไป (เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์, 2552)

รายงานผลสานเสวนาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้กล่าวถึงสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาด้านการศึกษาของชุมชนเทศบาลตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พบว่าเยาวชนไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกจากโรงเรียนกลางคัน และไม่ได้รับการศึกษาต่อ (สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้, 2557) ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากที่ครอบครัวไม่สนับสนุน เยาวชนเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่สนุกกับการเรียน ขาดแรงจูงใจ จึงควรมีกิจกรรมที่กระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจการศึกษามากขึ้น เช่นจัดค่ายเยาวชนปลูกฝังจิตสำนึก กิจกรรมเสริมทักษะในด้านต่างๆ พัฒนาสภาพแวดล้อมของระบบการศึกษาทั้งในด้านบุคลากร (ครู) และทัศนียภาพของสถานศึกษาให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งและพัฒนาเพื่อให้เกิดความผูกพันและมีแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ

ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพฯ เห็นว่าการเรียนการสอนในปัจจุบัน มุ่งเน้นให้นักเรียนได้นำความรู้และกระบวนการไปใช้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด การเรียนการสอนในห้องเรียนหรือตำราอย่างเดียวนั้น มักจะให้ประโยชน์ต่อผู้เรียนไม่เพียงพอ  ดังนั้นควรจัดกิจกรรมให้ผู้เยาวชนได้เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้จริงภายในบริเวณโรงเรียน โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และใช้ทรัพยากรในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งสามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร และพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นอกจากนี้ครูผู้จัดการสอนก็สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนมาบูรณาการกับการเรียนการสอนได้      

 

วัตถุประสงค์    

1. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการบรรยาย และเรียนรู้การเป็นผู้ถ่ายทอดได้

2. เพื่อให้นักเรียนมีความรู้เรื่องพฤกษศาสตร์และรู้จักพรรณไม้ในโรงเรียน

3. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้นักเรียนมีความรัก และเห็นคุณค่าของพืชพรรณไม้

 

โมเดลโรงเรียนต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์

โครงการต่อเนื่อง 4 ปี (2558 - 2561)

ปีที่1 : โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ สำหรับนักเรียนในตำบลท่าสาป ปี 2558

ปีที่2 : โครงการต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์โรงเรียนในตำบลท่าสาป ปี 2559

ปีที่3 : โครงการพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์โรงเรียนบ้านสาคอ ปี 2560

ปีที่4 : โครงการเปิดบ้านแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์โรงเรียนบ้านสาคอ ปี 2561

(Open House - Botanical Learning Resource at Bansako School)